โรงเรียนวิถีพุทธ

ความเป็นมาและความสำคัญ

โรงเรียนบ้านห้วยทรายเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนนักเรียน 335 คน บุคลากร 25 คน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูพบว่านักเรียนส่วนหนึ่งยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และไม่ผ่านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ขาดจิตสำนึก จิตสาธารณะ จิตอาสา ต่อตนเองและส่วนรวม ทางโรงเรียนจึงได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกับอัตลักษณ์ ทั้ง 29 ประการสู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ มีจุดเน้นอยู่ที่การพัฒนาตามหลักไตรสิกขา ที่เป็นการศึกษาพัฒนา 3 ด้าน อย่างบูรณาการ ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านพัฒนาการ กิน อยู่ ดู ฟังเป็น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา การศึกษาแนวทางวิถีพุทธมีความเหมาะสมกับสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะวิถีพุทธเป็นรากฐานและพื้นฐานของวิถีชีวิตและจิตใจ เพราะคนไทยนับถือพุทธศาสนาพุทธร้อยละ 95 ดังนั้นการจัดการศึกษาตามแนววิถีพุทธ เป็นความคาดหวังหลักของการพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์

โรงเรียนวิถีพุทธ เป็นโรงเรียนรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยผลักดันให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถพัฒนาตามศักยภาพ เป็นคนดี คนเก่ง และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข เป็นแนวทางปฏิรูปโดยแท้ที่ยึดหลักไตรสิกขา เป็นองค์รวม เป้าหมายในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เรียนรู้ตลอดชีวิต ประสานประโยชน์ให้สังคม

ลักษณะโรงเรียนวิถีพุทธ เน้นการจัดสภาพทุก ๆ ด้านเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการ ส่งเสริมให้เกิดความเจริญงอกงาม ตามลักษณะแห่งปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการคือ

1. สัปปุริสังเสวะ การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ มีครู อาจารย์ดี มีข้อมูลที่ดี

2. สัทธัมมัสสวนะ การเอาใจใส่ศึกษา โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดี

3. โยนิโสมนสิการ มีกระบวนการคิดวิเคราะห์หาเหตุผลที่ดี และถูกวิธี

4. ธัมมานุธัมมปัตติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

กระบวนการพัฒนา

กระบวนการศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์ 29 ประการสู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นกิจกรรมเพื่อให้นักเรียน ได้รับการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ให้บุคลากรในโรงเรียนเป็นกัลยาณมิตรที่ดีแก่กันและกัน โดยใช้วิถีพุทธกล่อมเกลาให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียนเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนและสังคม โดยใช้การบริหารงานตามกระบวนการ 6 ร. (TDARAP)

ขั้นตอนการดำเนินงานตาม BEST PRACTICE

1. ร่วมคิด (Thinking) ศึกษาสภาพปัญหาปัจจุบัน ระดมสมองระดมความคิดร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง วางแผน จัดทำโครงการ กำหนดอัตลักษณ์ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและระดมทรัพยากร

2. ร่วมทำ (Doing) ดำเนินการพัฒนาอัตลักษณ์ 29 ประการ สู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน 5 ด้าน โดยบูรณาการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ร่วมกิจกรรมวันสำคัญ จัดค่ายคุณธรรม จริยธรรม

3. ร่วมประเมินผล (Assessment) วัดและประเมินผลคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ประเมินอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธ นิเทศติดตามประเมินผล

4. ร่วมสรุปรายงานผล (Reporting) สรุปผลการประเมิน รายงานผล

5. ร่วมชื่นชมยินดี (Admiration) สร้างแรงจูงใจ มอบโล่ เกียรติบัตร รางวัล ค่าตอบแทน

6. ร่วมเผยแพร่ (Publicize) การนำเสนองาน/กิจกรรม แผ่นพับ

ผลการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงานตามอัตลักษณ์ 29 ประการ สู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ

1. นักเรียนมีความรู้คู่คุณธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ครบถ้วนตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านกายภาพ ด้านพฤติกรรมนักเรียน ครู ผู้บริหาร ด้านการเรียนการสอน ด้านกิจวัตรประจำวันพระ และด้านการส่งเสริมวิถีพุทธ โรงเรียนบ้านห้วยทรายมีผลประเมินอยู่ในระดับ ดี ระดับคะแนนเฉลี่ย 3.34 คิดเป็นร้อยละ 86.48 ( เป้าหมายร้อยละ 80 )

2. ครูและบุคลากรได้รับการพัฒนาสู่มาตรฐานวิชาชีพและเป็นกัลยาณมิตรที่ดีแก่กัน ด้านพฤติกรรมนักเรียน ครู ผู้บริหาร โรงเรียนบ้านห้วยทรายมีผลประเมินอยู่ในระดับดี ระดับคะแนนเฉลี่ย 3.40 คิดเป็นร้อยละ 85.00 (เป้าหมายร้อยละ 80)

3. ครูและผู้บริหารเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนและสังคม โรงเรียนบ้านห้วยทรายมีผลประเมินอยู่ในระดับ ดีมาก ระดับคะแนนเฉลี่ย 3.78 คิดเป็นร้อยละ 93.35 ( เป้าหมายร้อยละ 90 )

ร่วมชื่นชมยินดี (Admiration) สร้างแรงจูงใจ มอบโล่ เกียรติบัตร รางวัล ค่าตอบแทน

1. รับโล่และเกียรติบัตร โรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ รุ่นที่ 4 ปีการศึกษา 2556 ระดับประเทศ ที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

2. นำเสนอโครงงานคุณธรรม ทำดีถวายในหลวง ห้วยทรายสรรค์สร้าง ห่างไกลยาเสพติด น้อมจิตทำความดี ถวายองค์ภูมีมหาราชา ปีการศึกษา 2556 ระดับภูมิภาค ที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

3. รับโล่และเกียรติบัตร ชนะเลิศ อันดับ 1 โครงงานคุณธรรม ทำดีถวายในหลวง ห้วยทรายสรรค์สร้าง ห่างไกลยาเสพติด น้อมจิตทำความดี ถวายองค์ภูมีมหาราชา ปีการศึกษา 2555-2556 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 5

4. จำนวนนักเรียนผ่านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรคิดเป็นร้อยละ 100

ร่วมเผยแพร่ (Publicize) การนำเสนองาน /กิจกรรม การเผยแพร่ แผ่นพับ

1. นำเสนอโครงงานคุณธรรม โรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ รุ่นที่ 4 ปีการศึกษา 2556 ระดับประเทศ ที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

2. นำเสนอโครงงานคุณธรรม ทำดีถวายในหลวง ห้วยทรายสรรค์สร้าง ห่างไกลยาเสพติด น้อมจิตทำความดี ถวายองค์ภูมีมหาราชา ปีการศึกษา 2556 ระดับภูมิภาค ที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

3. ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงาน โรงเรียนต้นแบบโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ รุ่นที่ 4 ต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฯพณฯ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 5 ระหว่าง วันที่ 2-3

เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ข้อเสนอแนะการดำเนินงานตามอัตลักษณ์ 29 ประการสู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ

1. ควรพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นศาสนาประจำชาติ ควรจัดให้เป็นอัตลักษณ์ของคนไทยว่า คุณธรรม จริยธรรมต้องนำการศึกษา เพื่อที่จะสร้างคนให้เป็นคนดีแล้วพัฒนาให้เป็นคนเก่งได้

2. จัดทำโครงการโรงเรียนวิถีพุทธเข้าสู่แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี แผนปฏิบัติการประจำปี โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำเป็นระบบตามวงจรเดมมิ่ง (PDCA )

3. พัฒนานักเรียน บุคลากร และระบบการบริหาร เพื่อให้เกิดความสุขในการปกครอง หัวใจโรงเรียนวิถีพุทธ คือ เรารักนักเรียน ปรารถนาให้นักเรียนมีความสุข

แบบรายงานผลการถอดบทเรียนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ.pdf